เทคนิคการถ่ายภาพมาโคร

โบเก้ (Bokeh)

Bokeh มาจากคำภาษาญี่ปุ่น หมายถึง เลื่อนหรือวิงเวียน เมื่อนำมาใช้กับภาษาถ่ายภาพ หมายถึง แสงสะท้อนที่อยู่นอกโฟกัส เมื่อถ่ายเป็นภาพแล้วจะเกิดผลจากการทำงานของกล้องจะทำให้มีลักษณะรูปดวงกลมหรือ เหลี่ยมๆ เบลอๆ เลือนๆ ปรากฏอยู่ตามฉากหน้าหรือฉากหลัง โบเก้จะมีขนาด รูปร่าง และสีสันที่ต่างกันไปตรมสภาพแสง ขนาดของรูรับแสงที่ปรับ และจำนวนของไดอะแฟรมของรูรับแสงในเลนส์ ยกตัวอย่างเช่น

Macro Lens 60 Micro Nikkor F2.8
เมื่อถ่ายที่ F (รูรับแสง) ต่ำกว่า 8 ลงมา (รูรับแสงกว้างขึ้น) จะให้โบเก้ที่มีรูปทรงกลมๆ เบลอๆ เมื่อถ่ายที่ F (รูรับแสง) แคบกว่า 8 ขึ้นไป (รูรับแสงแคบลง) จะให้โบเก้ที่มีรูปร่างหกเหลี่ยม

TeleZoom Lens 70-300 Sigma APO DG Macro
เมื่อถ่ายที่ F (รูรับแสง) ต่ำกว่า 8 ลงมา (รูรับแสงกว้างขึ้น) จะให้โบเก้ที่มีรูปทรงกลมๆ เบลอๆ เมื่อถ่ายที่ F (รูรับแสง) แคบกว่า 8 ขึ้นไป (รูรับแสงแคบลง) จะให้โบเก้ที่มีรูปร่างเก้าเหลี่ยม

วิธีการถ่ายภาพที่ทำให้เกิดโบเก้




หาตัวแบบให้พบ แล้วสังเกตฉากหลังที่มีแสงสะท้อนอยู่ด้านหลังโฟกัสที่ตัวแบบ แบนกล้องไปหาแสงสะท้อนที่พร่างพราวอยู่ด้านนั้น ปรับรูรับแสงเมื่อต้องรูปร่างของโบเก้ที่แตกต่างแล้วก็ถ่ายภาพ

> ภาพที่มีโบเก้อยู่ในฉาก
- จะทำให้ภาพมีเสน่ห์ ชวนมองยิ่งขึ้น
- จะทำให้ภาพนุ่มนวลชวนฝัน

> หาฉากโบเก้ได้จากที่ไหน
แสงลอดใบไม้ แสงสะท้อนน้ำ แสงจากหลอดไฟ แสงสะท้อนจากหยดน้ำ และหยาดน้ำค้าง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดแสงสะท้อนที่อยู่นอกโฟกัสออกไป (ฉากหลัง) และที่อยู่ก่อนโฟกัสเข้ามา (ฉากหน้า)

> ความเบลอหรือความชัดของโบเก้
ความเบลอหรือความชัดของโบเก้ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงสะท้อน ถ้าแสงสะท้อนแรงๆ เช่น แสงสะท้อนจากน้ำจะทำให้โบเก้คมชัด แสงสะท้อนจากดวงไฟที่มีแสงสว่างมากจะทำให้โบเก้คมชัด และมีสีสันเปลี่ยนไปตามสีของดวงไฟ แสงสะท้อนน้อยๆ เช่น แสงลอดใบไม้จะทำให้โบเก้เบลอ นวล สบายตา และสวยงาม

> ขนาดของโบเก้
ขนาดของโบเก้จะขึ้นอยู่กับระยะห่างตัวแบบกับโบเก้
- ห่างมากโบเก้จะมีขนาดใหญ่ นวล สีจาง
- ห่างน้อยโบเก้จะมีขนาดเล็ก คม ชัด

> สีสันของโบเก้
สีสันของโบเก้ขึ้นอยู่กับแสงสะท้อน หากเกิดจากแสงธรรมชาติ เช่น แสงลอดใบไม้ แสงสะท้อนน้ำ โบเก้จะมีสีขาว หรือขาวขุ่น หากเป็นโบเก้ที่เกิดจากแสงหลอดไฟ โบเก้จะมีสีสันตามสีของหลอดไฟนั้นๆ


ถ่ายมาโครแบบฉากหลังดำ

วิธีถ่ายมาโครแบบให้ฉากหลังเป็นสีดำ

การถ่ายภาพมาโครที่เรานิยมกันมากอีกประเภทหนึ่งก็คือ การทำฉากหลังให้มีสีดำ เพราะเมื่อฉากหลังมีสีดำจะขับตัวแบบให้ดูโดดเด่น ชวนมองยิ่งขึ้น เพราะฉากหลังสีดำจะทำให้มองไม่เห็นอย่างอื่นนอกจากตัวแบบ


> ฉากดำในแสงธรรมชาติ
- ให้ตัวแบบที่เราต้องการถ่ายโดนแสงมากๆ
- มองหาฉากหลังที่ทึบเข้ม และมีแสงออกโทนเทาๆ หรือดำๆ เช่น ร่มเงา
- ถ่าย Mode A ตั้งค่ารูรับแสงขนาดกลาง เช่น 8-11
- วัดแสงตรงจุดที่สว่างที่สุดบนตัวแบบ และล็อคค่าแสงไว้
- เลื่อนดูภาพให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ ถือกล้องให้นิ่งๆ แล้วก็ค่อยถ่ายภาพ ภาพที่ออกมาจะมีฉากหลังที่ทึบเข้ม หรือมีสีดำ สร้างความโดดเด่นให้กับตัวแบบได้ดีมาก

> ฉากหลังดำด้วยการใช้แฟลช
- ใช้ Seep Shtter เร็วๆ เช่น 1/160s , 1/200s , 1/250s
- ใช้ F แคบๆ เช่น 18-22 หรือแคบกว่านั้น
- หาฉากหลังที่ไกลออกไปจากตัวแบบ เพื่อให้แสงแฟลชไปไม่ถึง
- ถ่ายในที่ที่มีปริมาณแสงน้อยกว่าปกติ เช่น ในร่ม

ถ่ายมาโครแบบฉากเบลอ
หาฉากหลังที่ไกลออกไป ยิ่งไกลฉากหลังก็จะยิ่งเบลอมากขึ้นตามลำดับ สำหรับการถ่ายภาพมาโครด้วยเลนส์มาโครแท้ ระยะห่างของฉากหลังแค่ 10 ซม. ก็ถือว่าไกลพอแล้ว ระยะห่าง 10 ซม. สำหรับภาพแนวอื่นๆ อาจจะไม่มีผลอะไร แต่ 10 ซม. สำหรับภาพมาโครโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราขยายใหญ่มากๆ ฉากที่เห็นจะละลายเป็นสีเดียวกันไปเลย


> ใช้รูรับแสงกว้างๆ
ทดลองปรับค่ารูรับแสงดูก็ได้ เมื่อถ่ายที่รูรับแสงกว้างๆ ฉากหลังก็จะเลือนขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้ต้องดูความชัดลึกของตัวแบบ ต้องลองปรับดูด้วยเมื่อเราปรับรูรับแสงกว้างๆ แล้วถ่ายภาพ ด้วยภาพแบบมาโครระยะชัดจะบางสุดๆ ทำให้ฉากหลังละลาย สวยเนียน แต่ตัวแบบจะชัดแค่นิดเดียว ก็อาจไม่ทำให้ได้ภาพสวยงามเท่าที่ควร ขณะถ่ายภาพก็ต้องดูประกอบกันไป และหาความสวยงามเหมาะสมให้ความชัดลึกของตัวแบบและความเบลอของฉากหลังสัมพันธ์กันด้วย

> ซูมเยอะ
เวลาเราซูมภาพเข้าไป หรือขยายให้แบบตัวใหญ่ขึ้นมากๆ ระยะชัดก็จะบางมากขึ้นตามลำดับ ฉากหลังก็จะอยู่ห่างจากโฟกัสเพิ่มมากขึ้น และเบลอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

> ขยับกล้องเข้าใกล้ตัวแบบ
พยายามขยับกล้องเข้าใกล้ตัวแบบในระยะที่เหมาะสม หากเราอยู่ห่างจากตัวแบบมาก การซูมเข้ามาฉากหลังจะเบลอไม่มากนัก การขยับเข้าใกล้ตัวแบบให้มากขึ้นอาจจะทำให้กำลังขยายน้อยลง แต่กลับทำให้ฉากเบลอมากขึ้น

ฝึกถ่ายภาพมาโครขั้นพื้นฐาน

การถ่ายภาพมาโครนั้นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ และเทคนิคบางอย่างที่แตกต่างออกไป จากการถ่ายภาพบุคคล หรือ การถ่ายภาพสถานที่พอสมควร สิ่งแรกที่ควรคำนึงคือ คุณรู้จักซับเจคของคุณแล้วจริงๆ รึยัง คุณสนใจเรื่องการโฟกัสพอหรือยัง ความเที่ยงตรงแม่นยำของกล้องที่ใช้ก็เป็นส่วนสำคัญ คุณต้องทำความเข้าใจด้วยว่าจะทำงานเข้ากันกับแฟลชที่คุณมีอย่างไร เมื่อเรามีความเข้าใจในการถ่ายมาโครมากพอแล้ว ก็เริ่มลงมือปฏิบัติ

หาตัวแบบที่น่าสนใจ


> ดอกไม้
- หาดอกไม้ที่มีรูปร่างสวยงาม แปลกตา
- มีสีสันสวยงาม
- เป็นดอกไม้ที่มีความสมบูรณ์ ไม่เหี่ยว กลีบไม่ช้ำหรือเว้าแหว่ง
- ดอกไม้ที่อยู่เป็นกลุ่มๆ บานสพั่ง
- ดอกไม้ที่อยู่เดี่ยวๆ แลดูโดดเด่น
- ดอกไม้ที่อยู่เป็นคู่น่ารัก เป็นคู่เหมือน หรือมีสิ่งเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน


>ใบไม้
- รูปทรงแปลกๆ แตกต่างไปจกที่เราเคยเห็น
- มีสีสันสวยงาม
- ใบไม้แห้ง และใบไม้ร่วงหล่นเต็มพื้น
- กองใบไม้ที่มีลักษณะหลายรูปแบบ หลายสีสัน


> หยาดน้ำค้าง
- หยาดน้ำค้างเป็นแถวๆ หลายๆ หยดตามกิ่งไม้ ใบไม้
- รูปทรงสวยงาม เช่น หยาดน้ำค้างยามเช้าใกล้หยดลงมา
- หาเงาสะท้อนในหยดน้ำ
- น้ำค้างบนดกไม้


> แมลง
- หาแมลงแปลกกๆ ที่ไม่ค่อยได้พบเจอทั่วไปในชีวิตประจำวัน
- มีสีสันแปลกตา
- เป็นแมลงที่มีความสมบูรณ์ ปีกไม่ขาด ขาไม่หัก

> เลือกมุมที่จะถ่าย
ลองพิจารณาด้วยสายตาของเราดูก่อนว่าควรถ่ายมุมไหนถึงจะสวยจึงจะงาม ตัวแบบแต่ละชนิดมีหลายมุมที่สวยงาม แปลกตา และแตกต่างกันออกไป หากยังมองมุมไม่เก่ง ก็เริ่มต้นจากการถ่ายหน้าตรงไว้ก่อน หากเป็นดอกไม้ก็ถ่ายดอกไม้ดอกหนึ่งเต็มๆ ดอก หากเป็นแมลงก็ถ่ายแมลงเต็มๆตัว หากเป็นใบไม้ก็ถ่ายใบไม้เต็มๆใบ หรือน้ำค้างก็ถ่ายแบบที่มองเห็นแต่แรก การเข้ามุมของตัวแบบแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น
- ดอกไม้ ใบไม้ ก็เข้าหาได้ง่าย ใกล้ เพระมันอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว หนีเราไปไหนไม่ได้
- หยาดน้ำค้าง ก็เข้าหายากขึ้น โดยเราไม่สามารถเข้าไปสัมผัสกับอะไรในบริเวณนั้นได้ เพราะเมื่อเรากะรทบกระทั่งแม้เพียงเล็กน้อย น้ำค้างก็จะร่วงลงพื้นหาไปในพริบตา
- แมลง ก็ดูจะยากสักหน่อยในการเข้าหา เพราะ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ แถวรวดเร็วอีกด้วย การเคลื่อนไหวช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เกิดเสียงหรือเป็นสิ่งรวบกวนแมลงน้อยที่สุด ก็จะทำให้เราเข้าใกล้ได้ง่าย และเข้าใกล้ได้มาขึ้น

สำรวจฉากหลังเสียก่อน

อยากได้ฉากหลังเบลอๆ เนียนๆ ก็หามุมที่มีฉากหลังไกลออกไป จะทำให้การถ่ายแบบฉากหลังเบลอง่ายขึ้น การถ่ายด้วย F กว้างๆ ทำให้ฉากหลังเบลอมากขึ้นก็จริง แต่ในการถ่ายภาพมาโครแล้วจะทำให้ตัวแบบชัดตื้นมากๆ
หากอยากให้ตัวแบบชัดลึกต้องใช้ F แคบๆ ฉากหลังก็ควรออกไปไกลสักหน่อย จึงจะได้ภาพที่ทั้งชัดลึกและฉากหลังเบลอๆ บางมุมมองก็มีสิ่งแวดล้อต่างๆ อยู่ในฉากหลังมากและใกล้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงและให้ไปถ่ายมุมอื่นที่สวยงามกว่าแทน

เสริมมุมมองและองค์ประกอบของภาพ

การนำสิ่งที่เรามองเห็นในสภาพแวดล้อมที่เราถ่ายและนำมาใช้ประกอบในภาพด้วยจะทำให้เกิดประโยชน์ เช่น แมลงปอเกาะบนใบหญ้าหางกระรอก ที่มีรายละเอียดเป็นเส้นขน การเบี่ยงมุมเพื่อหามุมย้อนแสงทำให้เกิดการเรืองแสง จะทำให้รายละเอียดในภาพมากขึ้น นอกจากการเห็นแมลงปอเพียงอย่างเดียว
หากผีเสื้อเกาะบนใบไม้ การใช้เส้นนำสายตาโดยใช้ลวดลายของใบไม้ ก็ทำให้สิ่งแวดล้อมมีประโยชน์เพิ่มขึ้น การทำให้ใบไม้เป็นกรอบภาพเป็นฉากหน้าเพื่อสร้างมิติในภาพ เหล่านั้นคือประโยชน์ทั้งสิ้น

แสงเงาและความเปรียบต่างของแสง

แสงเงาที่จริงมีความสำคัญมากในการถ่ายภาพ (ทุกแนวไม่เฉพาะมาโคร) การหาทิศทางของแสงและเงาที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดรายละเอียดในภาพมากขึ้น สวยงามขึ้น และชวนมองมากขึ้น
ความเปรียบต่างของแสง (Contrast) ช่วยเพิ่มน้ำหนักของภาพ หากได้ความเปรียบต่างของแสงเข้ามาเสริมให้เกิดความแตกต่างในภาพที่เหมาะสม จะยิ่งทำให้ภาพดูดีขึ้น การถ่ายอาจยากขึ้นบ้างแต่ประโยชน์ที่ได้จะมีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

การวางตำแหน่งตัวแบบ
หากเราวางตำแหน่งตัวแบบได้หน้าสนใจ การมองเห็นจะดูโดดเด่นเสริมความน่าดูขึ้นอีกมาก กฎพื้นฐานต่างๆ เช่น จุดตัด 9 ช่อง , กฎ 3 ส่วน , ซึ่งสามารถเรียนรู้ ปฏิบัติได้ง่าย และมีผลต่อภาพ เราก็นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
การวางตัวแบบอยู่ตรงกลางภาพซ้ำๆ กันในทุกภาพ นอกจากจะทำให้ภาพดูคล้ายกันไปหมดแล้ว ยังชวนให้น่าเบื่ออีกด้วย การถ่ายมาโครแบบง่ายๆ แต่ๆได้ภาพที่ดูดีก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ประกอบด้วย

ควบคุมโฟกัสให้ได้

เราอาจถนัดในการใช้ระบบโฟกัสคนละแบบ บางคนชอบออโตโฟกัสเพราะง่าย เร็ว ทันใจ โดยเฉพาะกล้องและเลนส์รุ่นใหม่ๆ ทั้งว่องไว แม่นยำ ช่วยให้การถ่ายภาพของเราง่ายขึ้น แต่ก็จะมีปัญหาอยู่บ้างเมื่อเราต้องการจัดภาพไปด้วย เพราะเมื่อเราโฟกัสและล็อคโฟกัสไว้แล้ว เวลาที่เราเคลื่อนกล้องเพื่อจัดภาพก็ทักจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ เพราะเวลาเคลื่อนกล้อง เราไม่ได้เคลื่อนกล้องในมุมที่ขนานกับตัวแบบที่เราโฟกัสไว้ทำให้โฟกัสมันเคลื่อน
บางคนชอบโฟกัสแบบแมนนวลโฟกัส เพราการแมนนวลโฟกัสจะทำให้เราจัดภาพได้เบ็ดเสร็จในคราวเดียว เมื่อเราหมุนโฟกัสเพื่อให้ได้ขนาดตัวแบบตาที่ต้องการ จัดตำแหน่งตัวแบบในภาพเรียบร้อยแล้ว เราก็มองเข้าไปในช่องมองภาพ แล้วก็ปรับโฟกัสไปตำแหน่งที่เราอยากให้ชัด โฟกัสภาพได้ชัดเจนแล้วก็กดชัตเตอร์ได้เลย หากถ่ายด้วยมือเปล่าแล้วมือไม่นิ่งพอ ก็ควรหาขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์/รีโมทมาใช้เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้นิ่งยิ่งขึ้น ทำให้ได้ภาพที่คมชัดไม่เบลอ

ควบคุมความชัดลึกนี้คือพื้นฐานที่เราควรรู้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดตัวแบบและอัตราการขยายด้วย หากอัตราการขยายมากระยะชัดก็จะบางมาก เช่น ถ้าถ่ายภาพด้วยเลนส์ที่มีอัตราการขยาย 1:1 ระยะชัดจะบางแค่ 1-2 มม. เท่านั้นเอง หากอัตราขยายน้อยลงระยะชัดก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ระยะชัดบางๆ เวลาถ่ายแมลงปอจะชัดแค่ตาเท่านั้นเอง ปีกและหางจะเบลอไปหมดในสถานการณ์ที่แสงมากพอ และอยู่ในมุมที่ไม่มีอุปสรรค การกำหนดความชัดก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะเราสามารถปรับค่ารูรับแสง (F) ให้เป็นค่าที่เหมาะสมได้ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นใจจะทำอย่างไร เราอาจถ่ายได้ไม่ชัดลึกตามที่ต้องการ วิธีเหล่านี้อาจจะช่วยได้
- ใช้การถ่ายภาพชัดตื้นให้เป็นประโยชน์ เน้นเฉพาะบางส่วนของตัวแบบ
- เข้ามุมที่มีความขนานกับตัวแบบให้มากที่สุด เช่น เข้ามุมขนานกับปีกผีเสื้อทางด้านข้าง , เข้ามุมด้านข้างของแมลงปอ เพื่อให้เห็นพื้นที่บนตัวแบบชัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ใช้แฟลชช่วยเพื่อเพิ่มปริมาณแสง ทำให้สามารถปรับรู้รับแสงได้แคบมาก

หาสถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ภาพที่มีสถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจะดูน่าตื่นเต้นกว่าภาพปกติ เช่น การผสมพันธุ์ของแมลง , การกินอาหาร , หรืออิริยาบถที่น่าเอ็นดู ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้ยากเท่าไร ก็จะทำให้ภาพดูน่าตื่นเต้นและน่าติดตามากขึ้น บางครั้งเราสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้เป็นชุด แล้วนำมาเรียงร้อยตั้งแต่ต้นจนจบจะยิ่งน่าดูมาก และมีประโยชน์ในการศึกษา เรียนรู้ความเป็นไปของธรรมชาติยิ่งขึ้นไปอีก

ถ่ายภาพหลายๆแบบ

หากเราพบเจอตัวแบบที่เรามีโอกาสพบเจอได้น้อย เราก็ควรเก็บภาพไว้หลายๆรูปแบบ หลายๆมุมในโอกาสเดียว เพราะอาจพบเจอสิ่งนั้นได้ยาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ อย่าทิ้งโอกาสถ่ายภาพนั้นไว้เพียงไม่กี่ภาพ พยายามถ่ายหลายๆ แบบไม่ซ้ำกัน ชนิดที่เรียกว่าแพนไปให้รอบตัว หากเรามีโอกาสน้อยที่จะไปยังสถานที่นั้น ในช่วงเวลานั้นๆ อีก ก็ควรเก็บภาพนั้นไว้ให้ครบ ให้ประทับใจในทุกแง่มุม

อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพมาโคร



กล้อง

กล้อง Compact หรือ Point & Shoot ส่วนใหญ่แล้วจะมีฟังชั่น Macro มาให้เราได้ใช้กัน ก็เพียงแค่หมุนตัวปรับไปยังไอคอนรูปดอกไม้แล้วก็นำกล้องเข้าไปใกล้ๆกับวัตถุที่จะถ่ายแต่อย่าให้เกินระยะโฟกัสใกล้สุด จัดองค์ประกอบ กดชัตเตอร์แค่นี้ก็ได้ภาพมาโครแล้วครับแต่ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือการใช้กล้อง SLR หรือ DSLR เพราะกล้องแบบนี้ เมื่อนำมาต่อเข้ากับอุปกรณ์เสริม เช่น เลนส์ Macro 1:1 หรือท่อต่อ Extension Tube รวมถึงการแยกแฟลชออกจากตัวกล้องและอื่นๆ จะทำให้มีลูกเล่นในการทำให้เกิดภาพเหนือกล้อง Compact มากมาย แต่ก็สามารถนำเอาบางบทความบางตอนไปประยุกค์ใช้กับ Compact ก็ได้เช่นกัน

เลนส์

เลนส์ที่ใช้ที่ได้ผลดีสำหรับถ่ายมาโครก็คือเลนส์ ที่มีกำลังขยาย 1:1 ซึ่งเลนส์ประเภทนี้จะเป็นเลนส์ Prime เช่น 50mm, 105mm หรือ 200mm ขนาดความยาวของเลนส์มีผลต่อ focus distance ค่ามากระยะห่างของเลนส์กับวัตถุ หรือ Focus distance จะเพิ่มขึ้นไปด้วย อย่างเช่น 200mm ระยะโฟกัสจะมีมากกว่า 50mm ใช้ได้ดีกับการถ่ายแมลงที่ไม่ยอมให้เราเข้าใกล้ๆ เลนส์ที่มีระยะโฟกัสที่สั้นอาจมีปัญหาที่เกิดจากการเลนส์ไปบังแสงได้ เลนส์ที่มีกำลังขยาย 1:1 ประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูง แต่เป็นที่นิยมของนักถ่ายภาพ Macro อะไรคือ 1:1 หรือ Life Size ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าขนาดของภาพที่ตกลงบนแผ่นเซ็นเซอร์ในระยะโฟกัสใกล้สุดจะมีขนาดเท่ากับของจริง เหมือนกับเราจับเอาแมลงไปวางไว้บนเซ็นเซอร์อะไรประมาณนั้น และเมื่อเปิดดูบนจอโมนิเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ จะดูใหญ่กว่าความเป็นจริงเนื่องจากจอมอนิเตอร์ มีขนาดใหญ่กว่า ขนาดของเซ็นเซอร์หลายสิบเท่า

เลนส์ Z00m บางตัวอาจจะมีโหมด Macro พ่วงมาด้วย แต่อัตราการขยายจะน้อยกว่า Macro Prime อาจจะขยายได้มากสุดเพียงแค่ 1:2 หรือ half a life size เป็นต้น

Close Up Filter
มีลักษณะเหมือนกับฟิลเตอร์ที่เราใช้ใส่เข้าไปข้างหน้าเลนส์ ทำให้เลนส์ธรรมดาสามารถโฟกัสได้ใกล้ขึ้น ราคาค่อนข้างถูก Close Up Filter มีหน้าที่คล้ายๆกับเป็นแว่นขยายให้กับเลนส์

มีให้เลือกหลายขนาดขึ้นอยู่กับอัตราการขยายที่เราต้องการ เช่น +1, +2, +4 หรือจะนำมาต่อเข้าด้วยกันพร้อมกันทั้ง 3 อันหรือจับคู่ใดคู่หนึ่ง เพื่อเพิ่มกำลังขยายก็ได้

ข้อเสียก็มีบ้างในเรื่องความคมชัดที่อยู่รอบๆบริเวณมุมของภาพ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจาก จุดสนใจของภาพมาโครส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณค่อนข้างไปทางกลางๆของเฟลม ไม่ติดขอบจนเกินไป และส่วนขอบๆภาพเราจะหนักไปในทางละลายฉากอยู่แล้ว

ท่อต่อ หรือ Extension Tube
ใช้ใส่ต่อระหว่างตัวกล้องกับเลนส์ เป็นท่อกลวง ใช้เพิ่มทางยาวของแสงที่จะตกลงบนเซ็นเซอร์ ระยะห่างมาก อัตราการขยายก็เพิ่มมากขึ้น

- Extension Tube
โดยทั่วๆไปจะมีอยู่ประมาณ 3 ขนาด เช่น 12 mm, 20 mm และ 36 mm และสามารถนำมาต่อรวมกันเพื่อให้มีอัตราการขยายได้มากขึ้นไปอีก (ดังรูปด้านบน) ราคาทั้ง 3 อันรวมกันแล้วก็ยังถูกกว่าเลนส์มาโคร 1:1 อยู่มาก

- Teleconverter
Teleconverter ก็เป็นอีก 1 ทางเลือก ใช้ต่อใส่ระหว่างตัวกล้องกับเลนส์แต่จะต่างจาก Extension Tube ตรงที่มีชิ้นส่วนเลนส์เพิ่มขึ้น มีหน้าที่เพิ่มทางยาวของเลนส์ทำให้ดึงภาพที่ไกลเข้ามาได้ใกล้ขึ้น เช่น ถ้าเอา2 x มาต่อกับเลนส์ 50mm ก็จะกลายเป็น 100mm ข้อเสียคือ ช่องรับแสงจะแคบลงตามค่าของท่อต่อ เช่น 2 xช่องรับแสงจะลดลง 2stop และไม่เหมาะกับเลนส์ที่มีช่องรับแสงแคบกว่า F2.8 ขนาดก็มี 1.2x, 1.4x, 1.7x หรือ 2.0x เป็นต้นการกลับเลนส์ หรือ Reverse mountingการกลับเลนส์โดยการเอาด้านหน้าเลนส์มาต่อเข้ากับตัวกล้องด้วย Adapting Ring หรือจะดัดแปลงทำเองจากฝาปิดตัวกล้องก็ได้ (จะกล่าวถึงการทำในโอกาสต่อไป) ให้อัตราการขยายได้มากกว่า 1:1 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเลนส์ทีใช้ ข้อเสียคือไม่สามารถใช้ระบบวัดแสงรวมทั้งการปรับช่องรับแสงของกล้องได้เลย

ขาตั้ง หรือ Tripod



มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการถ่ายภาพมาโคร เนื่องจากการถ่ายภาพแบบนี้มีอัตราการขยายที่สูงมาก การคลื่อนไหวน้อยนิดมีผลมหาศาลต่อความคมชัด ซึ่งคนรักการถ่ายภาพ Macro ควรต้องมี และขาตั้งที่เหมาะกับงานมาโครต้องสามารถปรับราบลงกับพื้นได้ ใช้ในกรณีที่ วัตถุอยู่ติดกับพื้นดิน เช่นเห็ดบางชนิด หรือแมลงที่อยู่ตามพื้นดิน แกนกลางของขาตั้งที่ดีสามารถถอดมาใส่แนวนอนหมุนรอบตัว 360 องศา หรือถอดใส่กลับหัวได้ หัวที่ใช้ก็น่าจะเป็นหัวบอล เพื่อความว่องไวและมีความคร่องตัวกว่าหัวแพน ถ้ามีตังหน่อยก็อาจจะใช้หัวที่เป็นแบบลางที่ทำไว้ใช้ในงานมาโครโดยเฉพาะ แต่ไม่จำเป็นถึงขนาดนั้นก็ได้

สายกดชัตเตอร์ หรือ รีโหมด

การใช้สายกด หรือรีโหมด จะช่วยลดการสั่นสะเทือนเวลากดชัตเตอร์ได้มาก เพราะการถ่ายภาพแบบนี้มีอัตราการขยายที่สูง มีความชัดตื้นมาก การสั่นเพียงเล็กน้อยมีผลกับความคมชัดของภาพ หรือหลุดโฟกัสไปเลย หากกล้องสามารถปรับเพื่อล็อกกระจกได้ควรใช้ให้เกิดประโยชน์ การสั่นสะเทือนของกระจกที่ยกขึ้นและตกลงด้วยความเร็วสูงระหว่างการกดชัตเตอร์ก็มีผลต่อความคมชัดด้วยเช่นกัน

แฟลช


บางครั้งแสงจากธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย การใช้แฟลชมีส่วนช่วยได้มาก แฟลชที่ใช้ควรแยกออกจากตัวกล้องด้วยการใช้สายต่อ หรือควบคุมด้วย Command Mode (ถ้ามี) แล้วยิงแสงมาจากด้านหน้าซ้ายหรือหน้าขวาหรือหน้าบน ทำมุมยกกับกระบอกเลนส์ เพื่อภาพที่ได้จะดูแล้วมีมิติไม่เรียบแบน (ระวังอย่าให้แสงแฟลชสาดเข้าเลนส์ตรงๆ) ระยะห่างก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าช่องรับแสงแต่ไม่ควรจะตั้งใกล้จนเกินไป หากต้องการให้ฉากหลังดำควรสวมท่อบังคับแสงไว้หน้าแฟลช (ทำกรวยบีบแสงเองก็ได้ด้วยการใช้กระดาษสีดำมาม้วนเป็นท่อแล้วสวมเข้ากับแฟลช แปะด้วยแถบกาว) การถ่ายภาพในลักษณะนี้ จะทำให้ ฉากหลังมีความมืดดำเป็นการขับให้ตัววัตถุที่เราถ่ายดูโดดเด่นออกมา

อุปกรณ์เสริม

แผ่นสะท้อนแสง หรือจะใช้กระดาษสีขาวแทนก็ได้ ขนาดก็ไม่ต้องใหญ่มาก เหมาะสำหรับการใช้ร่วมกับไฟแฟลชกระบอกฉีดน้ำ ถ้าอยากให้ภาพดูแล้วเหมือนกับถ่ายตอนเช้าๆ หรือหลังฝนตก ช่วยทำให้รูปดูสดชื่นขึ้นมาก กระดาษสีดำ เพื่อทำให้ฉากหลังเป็นสีดำ ควรเป็นสีดำด้านไม้สำหรับปักค้ำและลวดหรือเชือกมัดกี่งไม้ ใช้ในกรณีที่มีลมพัดแรง

การจัดองค์ประภาพมาโคร



งานถ่ายภาพมาโคร จัดเป็นการถ่ายภาพเฉพาะทาง มีหลักคิดที่ใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพและการนำเสนอไม่มากนัก ประการแรกคือ ต้องการถ่ายภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่มีขนาดเล็ก คมชัดและขยายใหญ่ขึ้น ด้วยมุมมองแบบ Magnification Eye ด้วยความแตกต่างของการมองที่ผิดแผกไปจากปกติ ความแปลกตาที่เราไม่ได้เห็นวัตถุ หรือภาพเหล่านี้ในระยะใกล้กำลังขยายมาก ภาพจึงดูน่าสนใจ

ประการที่สองคือ เราต้องการถ่ายภาพวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เพื่อการใช้งานในด้านใดด้านหนึ่ง งานที่ต้องการใช้การถ่ายภาพมาโครเป็นประจำคือ การถ่ายภาพวัตถุที่มีความสำคัญ เช่น การถ่ายภาพเครื่องประดับ เพชร พลอย ต่าง ๆ หรือแม้แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ขนาดเล็ก ๆ งานเหล่านี้เป็นงานถ่ายภาพเชิงธุรกิจที่ใช้การถ่ายภาพมาโคร การถ่ายภาพพระเครื่อง ปลาสวยงาม เป็นตัวอย่างงานถ่ายภาพมาโครที่ใกล้ตัว นักถ่ายภาพหลายท่านมีรายได้จำนวนไม่น้อยกับการถ่ายภาพงานเหล่านี้

อีกงานหนึ่งที่เป็นตัวอย่างในการใช้การถ่ายภาพมาโคร คือการถ่ายภาพในงานเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพแบบปกติ อย่างเช่น การถ่ายภาพดอกไม้ แมลง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และการถ่ายภาพผ่านกล้องกำลังขยายสูงมาก ๆ อย่างกล้องจุลทรรศน์ กล้องสเตอริโอแบบสองตา หรือแม้แต่การถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนที่ใช้ถ่ายภาพจุลชีพ


ในทางการแพทย์ก็มีการถ่ายภาพผิวหนัง ถ่ายภาพฟันในช่องปาก ซึ่งอาจจะไกลตัวสำหรับนักถ่ายภาพทั่วไป การจัดองค์ประกอบภาพสำหรับงานถ่ายภาพแบบนี้มักเน้นที่ความคมชัดของวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ เน้นความสำคัญที่รายละเอียดของรูปร่าง สัดส่วน ลักษณะพื้นผิว และมองเห็นในมุมที่ต้องการเป็นสำคัญ การจัดองค์ประกอบภาพจึงมักวางตำแหน่งไว้กลางภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและนำไปใช้งานอื่นต่อไปได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การเลือกมุมมอง การควบคุมระยะชัด การเลือกฉากหลัง จะไม่เป็นกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับนักถ่ายภาพและจุดประสงค์ในการนำภาพนั้นไปใช้งาน

สำหรับ การวางตำแหน่งจุดเด่นในภาพ ลวดลาย สีสันของซับเจ็กต์ ฉากหลัง และการควบคุมระยะชัดที่พอเหมาะคือ หลักง่าย ๆ ในการถ่ายภาพมาโคร และความสำคัญของสิ่งที่เราถ่ายภาพจะเป็นตัวส่งเสริมให้ภาพมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น


เวลาที่เหมาะกับการถ่ายภาพ Macro

เวลาที่เหมาะก็น่าจะเป็นช่วงเช้าๆ แดดไม่แรง ดอกไม้จะดูสดไม่เหี่ยว บางครั้งยังมีน้ำค้างเกาะอยู่ช่วยเพิ่มความสดชื่นของดอกไม้ ถ้าเป็นพวกแมลง ช่วงเช้าๆแมลงไม่ค่อยมีความว่องไว ยังไม่ตื่นตัวเหมือนช่วงสายๆ เนื่องจากมีความเปียกชื้นจากน้ำค้างมาจากตอนกลางคืน (ในกรณีที่ไม่มีน้ำค้างเกาะเราอาจจะใช้กระบอกฉีดน้ำฉีดเพื่อเลียนแบบก็ได้ แต่ต้องไม่ฉีดมากจนเกินไปเพราะจะดูแล้วไม่เป็นธรรมชาติ ในกรณีที่ใช้ใบเป็นองค์ประกอบของดอกไม้ เราควรฉีดทั้งดอกและใบ)

ผลดีอีกอย่างของการถ่ายภาพในตอนเช้าๆคือ ลมจะยังไม่แรง ลมคือปัญหาใหญ่ของการถ่ายภาพ Macro เป็นอย่างมาก(หากมีลมเราอาจจะใช้ไม้มาปักในทิศทางตรงกันข้ามกับลม หรือถ้ามีเชือกมัดจะปักตรงใหนก็ได้ แล้วถ่ายด้วยการบังมุมกล้อง ดังตัวอย่างข้างล่าง)

ข้อดีและข้อเสีย ของการถ่ายภาพมาโคร

ข้อดีของการถ่ายภาพมาโคร

1. หาตัวแบบได้ง่าย เราสามารถถ่ายได้ทุกที่ มีตัวแบบให้ถ่ายมากมายเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ ดอกไม้ ผีเสื้อ แมลงปอ แมลงต่างๆ หากอยู่นอกเมืองสัก หน่อย สิ่งหล่านี้ก็จะหาง่ายมาก แค่เดินออกไปยังสนามหญ้าหน้าบ้านก็มีมากมายแล้ว หากอยู่ในเมืองก็หาตัวแบบอื่นๆ ได้ไม่ยากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา ของเล่น ของสะสม ของที่ระลึก จัดแสงจัดฉากช่วยสักหน่อย คุณก็จะเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพมาโครได้ในยามว่าง ยังมีอะไรอีกมากมายที่ยังได้เอ่ยถึงรอบๆตัวเรา ลอกสำรวจดู หากคุณชอบเที่ยว ชอบไปตามอุทยานต่างๆ จะยิ่งพบเห็นเหล่าดอกไม้ แมลงต่างๆ ผีเสื้อหรือแมลงปอได้โดยง่าย คุณสามารถเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งวัน

2. ทำให้มีสมาธิมากขึ้น เวลาถ่ายภาพใกล้ๆแบบนี้จะทำให้เรานิ่งและใจจดจ่อ โดยที่แทบไม่ได้นึกถึงเรื่องอื่นๆเลย ได้แต่จ้องตัวแบบอย่างเดียว เมื่อได้หัดถ่ายมาสโครสักพักคุณจะรู้สึกได้ว่าตัวเองมีสมาธิมากขึ้น นิ่งขึ้น ใจเย็นมากขึ้น

3. มีความรู้เพิ่มขึ้น เวลาที่เราถ่ายผีเสื้อมากมายโดยที่เราไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของพวกมันมาก่อน ความหลากหลายของผีเสื้อน่าติดตามมาก ทำให้เรามีความรู้เรื่องต่างๆของแมลงมากขึ้น


ข้อเสียของการถ่ายภาพมาโคร

1. อุปกรณ์แพง นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายๆท่าน อาจไม่ชอบถ่ายมาโคร เพราะกล้องคอมแพ็ก หากจะถ่ายให่มีอัตราขยายสูงๆ ตัวใหญ่ๆ ก็ต้องหาเลนส์มาเสริม มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และหาซื้อยาก ถ้าเป็น DSLR ก็ต้องมีเลนส์มาโครแท้ที่มีอัตราขยาย 1:1 ซึ่งเลนส์มาโครแท้ๆ ของยี่ห้อกล้องมักมีราคาแพง (15,000-30,000 บาทขึ้นไป) เลนส์อิสระก็แล้วแต่ชอบใจ (9,000-25,000) DSLR อาจมีอุปกรณ์อื่นๆ มาเสริมให้มีอัตราขยายสูงขึ้นอีหลายชนิด เช่น วงแหวนกลับเลนส์ , โคลสอัพฟิวเตอร์ , ท่อต่อเลนส์ , Bellow ฯลฯ แต่อุปกรณ์เหล่านี้ก็ต้องหาซื้อเพิ่ม มีราคาพอสมควร และถ่ายยากขึ้นกว่าถ่ายมาโครปกติมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเสียแสง ซึ่งการถ่ายมาโครมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเรื่องแสงพอสมควรทีเดียว

2. ความอดทนไม่เพียงพอ การถ่ายมาโครจำเป็นต้องใช้ความอดทนสูงกว่าปกติ เพราะถ่ายระยะใกล้ถึงใกล้มาก ต้องกลั้นหายใจทุกครั้งหากไม่ใช้ขาตั้งกล้อง ไม่งั้นภาพจะสั้นเบลอ การอดทนรอเลาเพื่อถ่ายแมลงก็ต้องรอช่วงจังหวะมากกว่าการถ่ายภาพตัวแบบอื่นๆ ความร้อนของแสงแดด การเดินทางเสาะหา การเลือกมุม แสงเงา สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความอดทนทั้งนั้น หากความอดทนมีน้อยก็จะถ่ายได้ยาก หรือถ่ายไม่ได้เลยหากกลัวแดดเผาจนตัวดำ ก็อย่าหวังว่าจะได้ภาพมาโครแบบแจ่มๆ มาเชยชมสักภาพหนึ่ง

3. ตัวแบบหายาก หากจะให้ชาวกรุง หรือคนที่อยู่ในเมืองไปเดินหาแมลงเพื่อถ่ายมาโคร จะพบเจอที่ไหนกัน ต้องนั่งรถไปเดินสวนผีเสื้อกรุงเทพฯ ที่สวนรถไฟ หรืออกไปเดินหาตามสวนสาธารณะต่างๆ ทั่วเมือง ว่าแต่จะมีเวลาหรือเปล่าเท่านั้น คนที่อยู่นอกเมืองก็หาได้ง่ายอยู่สักหน่อย แต่ถ้าจะให้มีมากจริงๆ ก็ตามอุทยานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เช่น เขาใหญ่ แก่นกระจาน เจ็ดคต โกรกอีดก ปางสีดา ฯลฯ แต่ก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมากพอสมควร อาจต้องจัดทริปเป็นกลุ่มๆ แชร์ค่าใช้จ่ายกัน ก็สนุกไปอีกแบบหนึ่ง ภาพมาโครจะนำไปสู่ความสนุกสนานเหมือนเปิดโลกทัศน์ด้านการถ่ายภาพของคุณไปอีกแบบหนึ่งจากภาพหลายๆแนวที่คุณเคยถ่ายมา

องค์ประกอบภาพถ่ายมาโครที่ดี


- มีความคมชัดของตัวแบบ

หากตัวแบบในภาพไม่คมชัด ก็แทบจะลืมเรื่องอื่นไปได้เลย สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในภาพคือ ตัวแบบที่เราเก็บมานำเสนอ หากถ่ายภาพผีเสื้อสักตัว แล้วได้ภาพผีเสื้อเบลอๆกลับมา สีสันหรือสิ่งแวดล้อมในภาพก็ไม่น่าสนใจ ก็เท่ากับว่าเสียเที่ยวเสียเวลาเปล่า

ในการถ่ายมาโครควรถ่ายให้ตัวแบบมีความคมชัดไว้ก่อน หากถ่ายแมลงสักตัวก็ควรเน้นความคมชัที่ดวงตา หากดวงตาคมชัดแต่ส่วนอื่นไม่ชัด (เพราะขนาดตัวแบบใหญ่) ก็ยังดีกว่าไม่ชัดสักส่วนเลย


- ควบคุมความชัดตื้น เน้นจุดเด่นของภาพ

การถ่ายมาโครเราก็พอจะทราบกันแล้วว่า เลนส์มาโครเมื่อถ่ายวัตถุเล็กๆ ให้มีขนาดใหญ่จะมีระยะความคมชัดที่แคบมาก หากเราโฟกัสภาพชัดที่มุมด้านหน้าของแมลงปอสักตัวหนึ่ง ส่วนที่เป็นลำตัว ปีก หาง ก็เบลอจนแทบจะหายไปเลย ระยะความคมชัดที่ชัดเฉพาะบางส่วนแบบนี้เราเรียกว่า ชัดตื้นคือ มีระยะความชัดในภาพแค่ส่วนเดียว โดยส่วนที่เหลือจะเบลอ

เราสามารถนำความชัดตื้นมาทำให้เกิดประโยชน์ และเกิดความสวยงามได้หากเราถ่ายในมุมที่พอเหมาะ ถ้าต้องการเน้นความคมชัดที่ดวงตา และปล่อยให้ส่วนอื่นๆเบลอ จะทำให้ส่วนที่ชัดคือ ดวงตาถูกเน้นขึ้นมาในภาพ ช่วยให้ได้ภาพที่สวยงามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง

การควบคุมระยะชัดให้อยู่ในช่วงแคบๆ (ชั้นตื้น) ทำได้โดยการปรับรูรับแสงให้มีขนาดใหญ่ หรือมีค่ารูรับแสงเป็นตัวเลขน้อยๆ นอกจากรูรับแสงแล้วสิ่งที่มีผลต่อระยะคมชัดอีกตัวหนึ่งก็คือ ทางยาวโฟกัส

การถ่ายภาพด้วยทางยาวโฟกัสสูงๆ จะทำให้มีระยะคมชัดแคบลง แม้จะใช้รูรับแสงที่มีขนาดเท่ากัน นอกจากนี้ทางยาวโฟกัสสูงๆ ยังช่วยให้ระยะห่างระหว่างตัวแบบกับสภาพแวดล้อมด้านหลังดูห่างกันมากขึ้นอีกด้วย


- ควบคุมความชัดลึก เน้นสภาพแวดล้อม

การถ่ายภาพตัวแบบที่เน้นให้มีระยะความคมชัดสูงๆ หรือชัดทั้งตัว เช่น ถ่ายผีเสื้อด้านข้างเวลาผีเสื้อเกาะหุบปีก จะทำให้เราสามารถมองเห็นรายละเอียด ลวดลาย สีสันที่สะดุดตา หรือหากเราถ่ายภาพที่มีความชัดเกือบทั้งภาพ เราก็จะยิ่งเห็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในภาพ เพื่อนำมาประกอบภาพให้ดู้สมบูรณทมากยิ่งขึ้น

ระยะความชัดที่ชัดเกือบทั้งภาพแบบนี้เราเรียกว่า ชัดลึก ภาพที่มีความชัดลึกสูงๆ เหมาะสำหรับถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่อราวบางอย่างในภาพ เช่น ผีเสื้อกำลังดูดกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ซึ่งมีอยู่รอบๆ หลายดอกเราก็จะรู้ว่า ผีเสื้อชนิดนี้หากินอยู่กับดอกไม้ประเภทนี้ ซึ้งก็จะมีประโยชน์ในด้านการสังเกตพฤติกรรมของผีเสื้อ ในการที่จะมองหาผีเสื้อชนิดนั้นๆ ในครั้งต่อไป

ความชัดลึกสารถควบคุมได้ด้วยรูรับแสง ถ้ารูรับแสงมีขนาดเล็ก (ตัวเลขค่ารูรับแสงมีค่าสูงๆ) ระยะความคมชัดก็จะสูงขึ้น ทำให้เกิดภาพแบบชัดลึกขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นการปรับค่ารูรับแสงที่ตรงกันข้ามกับชัดตื้น

สำหรับทางยาวโฟกัส ยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสที่สั้นก็จะช่วยให้ระยะความคมชัดสูง ทำให้เกิดภาพที่คมชัดมากขึ้น และทำให้ระยะห่างระหว่างตัวแบบห่างมาก ระยะคมชัดจะลึกขึ้น ตำตัวแบบที่ได้ก็จะเล็กลงตามลำดับ


- มีแสงพอเหมาะ

การวัดแสงที่ถูกต้องและเหมาะสมมีความสำคัญสำหรับการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพแนวไหน การฝึกหัดการวัดแสงในแต่ละสภาพที่เราพบเจอคือ สิ่งที่ต้องฝึกหัดใหม่มาก โดยเฉพาะสภาพแสงที่มีความแตกต่างของแสงสูงมาก เราต้องถ่ายภาพให้มีน้ำหนังของแสงพอดีเพื่อจะได้ภาพที่ไม่สว่าง หรือมืดจนเกิดไป ทำให้ภาพดูสวยงามน่าชมมากขึ้น


- มีจุดเด่นและเรื่อราว

ภาพมาโครก็เหมือนกับภาพแนวอื่นๆ ที่ต้องมีอะไรสักอย่างเป็นตุดเด่นในภาพ ภาพดอกไม่สักดอก แมลงสักตัวที่เราต้องการถ่ายออกมา ทำอย่างไรจึงจะให้สิ่งที่ต้องการเน้นนั้นมีความโด่ดเด่นที่สุดในภาพ


- สัดส่วนและองค์ประกอบภาพที่เหมาะสม

ขนาดของตัวแบบที่เราถ่าย ต้องคำนึงถึงด้วยว่ามีขนาดเท่าไร ควรเข้าใกล้แค่ไหน ความขยายเท่าไรจึงจะขนาดที่เหมาะสม ไม่ควรแน่นจนเต็มภาพจนดูอึดอัด (ยกเน้นต้องเน้นความใหญ่โตเพื่อให้เห็นความละเอียดของตัวแบบ) หรือขนาดเล็กจนดูโหวงเหวง มองแทบไม่เห็นตัวแบบ


- มีเรื่องราวที่ดูและสื่อสารได้

จัดวางภาพให้ดูมีเรื่องราว ให้สามารถสื่อสารออกมาจากภาพได้ว่าเรานำเสนออะไร การถ่ายภาพมาโคร เราสามารถเน้นเรื่อราวในภาพได้ ภาพบางภาพเมื่อเห็นสถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจะยิ่งน่าชมมากกว่า

หากต้องการถ่ายภาพดอกไม่ 1 ดอก ให้ลอกลึกถึงเรื่องราวที่จะสื่อสาร ถ้าดอกไม้ดอกนั้นมีผีเสื้อมาเกาะด้วยจะน่าดูมากว่า เพราะถ้ามีผีเสื้อเกาะอยู่ มันน่าจะทำให้คิดถึงเรื่องราวได้อีกหลายอย่าง เช่น ผีเสื้อชนิดนี้นี้แหละชอบดอกไม้ชนิดนี้


- สะดุดตา น่าติดตาม และโดดเด่น

มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เราสร้างความสะดุดตา ความน่าติดตาม หรือสร้างความโดดเด่นให้กับภาพ เช่น สีสัน เรื่องราวของการล่า สายลมที่พัดไหว ความเป็นไปของชีวิตเล็กๆ หากเรารู้จักที่จะเก็บเรื่องราวเหล่านั้นเข้ามาใส่ในภาพมาโครของเรา ก็จะทำให้ภาพนั้นน่าดูมากขึ้น

เราต้องเลือกจุดใดจุดหนึ่ง (ของตัวแบบ) ในภาพให้เกิดความสะดุดตา ในตัวแบบที่ถ่ายอาจจะมีหลายสิ่งที่สามารถเลือกมาเป็นจุดเด่นได้ แต่เราไม่ควรเลือกมาทั้งหมด ควรเลือกแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราจะเน้นที่สุดเพื่อให้เกิดความสะดุดตา เช่น ภาพเงาสะท้อนของดอกไม้ในหยาดน้ำค้าง เข้าใกล้ๆ ถ่ายชัดๆ จะดูสะดุดตาน่าสนใจอย่างยิ่ง


- เน้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพ

หากเราพบเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเก็บภาพไว้ได้ เช่น แมลงมุมกำลังจับแมลงปอกินอย่างเอร็ดอร่อย นี่แหละคือเรื่องราวของธรรมชาติที่เราเก็บมานำเสนอผ่านมุมมองของเรา ทำให้คนดูสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิดมากยิ่งง่ายยิ่งดูดี ภาพมาโครไม่ค่อยมีอะไรซับซ่อนอยู่แล้ว บางทีดอกไม้สีแดงดอกเดียวในฉากหลังเบลอๆ สี้เชียวก็สามารถเรียกความประทับใจจากคนดูภาพของเราได้มากมาย

“ความเรียบง่ายคือสิ่งที่ดีที่สุด” เป็นวลีอมตะที่ใครกล่าวไวว้ก็ไม่ทราบ แต่นำมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ผลเมื่อนั้น


- สัมผัสได้ง่าย เข้าใจถึงความงามได้ง่าย

ภาพมาโครที่ดีควรจะสัมผัสได้ง่าย มองครั้งเดียวสามารถเข้าใจและมองเห็นในสิ่งสวยงามในภาพถ่ายโดยไม่ต้องนั่งคิดซับซ้อนให้วุ่นวาย ภาพบางภาพดูเท่าไรก็ไมเข้าใจ มองซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ยังไม่รู้ว่า คืออะไร ภาพมาโครส่วนใหญ่ก็มักจะเรียบง่าย สัมผัสได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะจะเป็นภาพที่เน้นถ่ายใกล้ๆ ให้เห็นรายละเอียด ให้รู้ว่าสิ่งนี้รูปร่างเป็นแบบนี้ รายละเอียดแบบนี้ ซึ่งไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อนอยู่แล้ว


- มีความเป็นเอกลักษณ์

เมื่อเราถ่ายไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะหาแนวถ่ายของเราเจอ และจะทราบว่าเราถนัดการถ่ายภาพตัวแบบแบบไหน หากเราเน้นถ่ายตัวแบบนั้นๆบ่อยๆ ให้ได้ภาพที่สวยงาม จะมีคนชอบดูและค่อยติดตามผลงานของเราอยู่

ความหมายของ Macro

ความหมายของมาโคร (Macro) การถ่ายภาพมาโครในทางเทคนิค หมายถึง การถ่ายภาพตัวแบบเพื่อให้มีขนาดที่ยันทึกลงบนตัวรับภาพ (ฟิล์มหรือเซนเซอร์ที่ใช้รับภาพในกล้องดิจิตอล) กับขนาดของตัวแบบจริง หรือเรียกง่ายๆ ว่าได้ภาพที่มีอัตราขยายใกล้เคียง 1:1 (ขนาดภาพ :ขนาดวัตถุ)

ตัวเลขอัตราขยายนี้ตัวเลขตัวแรกจะแทนขนาดภาพบนตัวรับภาพที่ถ่ายได้ ส่วนตัวเลขตัวหลังจะแทนขนาดภาพของวัตถุจริง เช่น 1:1 หมายถึง ถ่ายภาพได้มีขนาดเท่าของจริง, 2:1 หมายถึง ถ่ายภาพได้มีขนาดใหญ่กว่าของจริงสองเท่า และ 1:4 หมายถึง ถ่ายภาพได้มีขนาดเล็กกว่าของจริง 4 เท่า

อย่างไรก็ตามในยุคหลังผู้ผลิตเลนส์บางรายได้ผลิตเลนส์ที่มีอัตราขยายอยู่ที่ 1:2 ซึ่งเป็นอัตราขยายที่น้อยกว่า 1:1 ถึง 2 เท่า แต่ก็โฆษณาว่าถ่ายภาพมาโครได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วอัตรากำลังขยายที่น้อยกว่า 1:1 นั้นควรจะเรียกว่าเป็นภาพโครสอัพ (Close Up) มากกว่า


สำหรับเลนส์ที่มีอัตราขยายมากกว่า 1:1 เช่น 1.5:1 , 2:1 , 3:1 และ 4:1 เราจะเรียกการถ่ายภาพเหล่นนั้นว่า ซูเปอร์มาโคร (Super Macro)

คำว่าซูเปอร์มาโคร ก็ทำให้ผู้ใช้ทั่วไปสับสนได้เพราะกล้องดิจิตอล (คอมแพ็ก) บางรุ่น มักจะเอาคำว่าซูปเปอร์มาโครไปใช้โฆษณา ซึ่งคำว่าซูเปอร์มาโครในกล้องคอมแพ็กนั้นจะหมายถึง ความสามารถในการถ่ายภาพในระยะใกล้ได้น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ซึ่งไม่เกี่ยวกับอัตราขยายที่เรากำลังพูดถึงในการถ่านภาพมาโคร

ขนาดภาพในที่นี้คือ ขนาดเท่ากับฟิล์ม 35 มม. ซึ่งเทียบเท่าได้กับเซนเซอร์ในกล้อง DSLR แบบฟูลเฟลม (Full Frame) ได้แก่ Canon 5D Mark II , 1 Ds Mark III หรือ Nikon D700 , 3D , D3X ส่วนกล้องดิจิตอลคอมแพ็กและกล้อง DSLR ทั่วไปจะมีขนาดเซนเซอร์เล็กกว่า เมื่อนำไปถ่านภาพด้วยเลนส์มาโครจะได้ภาพที่ดูใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับกล้องฟูลเฟรม เพราะเซนเซอร์ที่เล็กจะทำให้ได้ภาพแค่บางส่วนของภาพใหญ่ จึงดูเหมือนได้ภาพที่ดูใหญ่ขึ้น ที่จริงแล้วเป็นภาพที่มีกำลังขยายเท่าเดิม




เรามักจะขนานนามของภาพมาโครว่า “โลกใบเล็ก” นั่นคือ การถ่ายภาพด้วยการขยายสิ่งเล็กๆ ออกมาให้เป็นภาพถ่ายที่ดูชัดเจนน่าตื่นตาตื่นใจ สิ่งเล็กๆที่เรามองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อถ่ายทอดออกมาทำให้คนดูตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น เช่น ตาแมลงวัน เวลาเราถ่ายมาโครขยายขึ้นมาจะเห็นว่าตาแมลงวันรูปร่างคล้ายตาราง เป็นเซลส์เหลี่ยมๆเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด และยังมีภาพหยุดน้ำค้างภาพเกสรดอกไม้ ภาพแมลงต่างๆ ล้วนสวยงามและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติความเป็นมาของ Macro


ภาพธรรมชาติ เป็นที่สนใจมากที่สุดแบบหนึ่งของบรรดาช่างภาพในทุกวันนี้ ด้วยความหลากหลายของซับเจค ตามธรรมชาติที่มีมากพอที่จะสามารถให้ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพได้แสดงมุมมองของตนเองเข้าไปอย่างไม่มีวันหมด ช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพชีวิตป่าจะคอยมองหาศิลปะบนตัวแมลงที่ลึกลับ หมู่มวลผีเสื้อที่น่าหลงใหล ถ่ายภาพดอกไม้นานาพันธุ์ และแปลงกายเป็นมนุษย์แมลงเพื่อมองหาเห็ดที่ซ่อนอยู่ตามพื้นในบางครั้ง และในการบันทึกภาพเหล่านี้โดยส่วนมากแล้วช่างภาพมักใช้การถ่ายในโหมดมาโครเป็นหลัก เพื่อเปิดเผยความเป็นส่วนตัวของนางแบบที่พบเห็นให้มากที่สุด

การถ่ายภาพมาโคร เป็นการถ่ายภาพเพียงไม่กี่แบบที่ใช้หลักการพื้นฐานการถ่ายภาพที่แตกต่างออกไปจากการถ่ายภาพปกติ เลนส์ต้องออกแบบมาพิเศษ ความเข้าใจเรื่องระยะชัดแตกต่างออกไป และยังมีอัตราการเสียแสงอีก แต่มันไม่ได้ยากและน่าเบื่อขนาดนั้น กลับกันคุณอาจหลงรักมันเหมือนกับนักถ่ายภาพอีกหลายคนที่ติดใจกับเสน่ห์ของโลกการถ่ายภาพมาโคร ส่วนใหญ่การถ่ายภาพมาโครที่เราพบเห็นอยู่ทุกวัน เวลาถ่ายทอดออกมาในลักษณะมาโคร (Macro Photography) มันจะได้มุมมองที่แตกต่างจากในชีวิตประจำวันดูแปลกตาดีทีเดียว เรามารู้จักกันก่อนดีกว่าว่ามาโคร (Macro Photography) ว่าคืออะไร

การถ่ายภาพมาโคร การถ่ายระยะใกล้ ถูกนิยามว่า ภาพที่ฉายบน"ระนาบฟิล์ม"(เช่น ฟิล์ม หรือเซ็นเซอร์ดิจิตอล) ในสมัยก่อน การถ่ายภาพมาโคร เรียกว่า Macroscopy แข่งขันกับ กล้องจุลทรรศน์ดิจิตอล Macroscopy ยังแข่งขันกับกล้อง photomicroscopy ที่มีราคาไม่แพงมาก แต่มีคุณภาพสูง แต่ถ้าเป็นภาพที่กำลังขยายสูงๆจะใช้ยาก สู้การใช้ macroscopy ไม่ได้

ในสมัยก่อนนั้น มาโคร (Macro) เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางกฎหมาย ใช้ในการเก็บหลักฐานลายนิ้วมือ และร่องรายต่างๆ เพื่อไขคดีที่เป็นอาชญากรรมหรือการเกิดอุบัติเหตุ และมาโครยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการเก็บหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น การถ่ายสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อเก็บรายละเอียดของสัตว์เหล่านั้นมากทำการวิจัยลักษณะสัตว์ที่พบเจอ จนในที่สุดก็ได้พัฒนาการมาเป็นการถ่ายภาพมาโคร หรือเรียกว่า Macro Photography เพื่อถ่ายภาพดอกไม้ แมลง หรือสิ่งของที่มีขนาดเล็กๆ รวมถึงเครื่องประดับแบบใกล้ๆ ซึ่งถ่ายออกมาแล้วเมื่อเปิดดูที่จอโมนิเตอร์ จะเห็นว่ามีขนาดที่ใหญ่กว่าความเป็นจริงมากมาย สำหรับคนที่จัดถ่ายภาพมาโคร ต้องมีความขยัน เป็นคนช่างสังเกต มีความอดทนสูง ผลที่ได้มักทำให้รู้สึกตื่นเต้นและมีชีวิตชีวา เพราะคุณได้รู้ว่าโลกภายนอกยังมีเพื่อนตัวเล็กเหล่านั้นอาศัยอยู่