อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพมาโคร



กล้อง

กล้อง Compact หรือ Point & Shoot ส่วนใหญ่แล้วจะมีฟังชั่น Macro มาให้เราได้ใช้กัน ก็เพียงแค่หมุนตัวปรับไปยังไอคอนรูปดอกไม้แล้วก็นำกล้องเข้าไปใกล้ๆกับวัตถุที่จะถ่ายแต่อย่าให้เกินระยะโฟกัสใกล้สุด จัดองค์ประกอบ กดชัตเตอร์แค่นี้ก็ได้ภาพมาโครแล้วครับแต่ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือการใช้กล้อง SLR หรือ DSLR เพราะกล้องแบบนี้ เมื่อนำมาต่อเข้ากับอุปกรณ์เสริม เช่น เลนส์ Macro 1:1 หรือท่อต่อ Extension Tube รวมถึงการแยกแฟลชออกจากตัวกล้องและอื่นๆ จะทำให้มีลูกเล่นในการทำให้เกิดภาพเหนือกล้อง Compact มากมาย แต่ก็สามารถนำเอาบางบทความบางตอนไปประยุกค์ใช้กับ Compact ก็ได้เช่นกัน

เลนส์

เลนส์ที่ใช้ที่ได้ผลดีสำหรับถ่ายมาโครก็คือเลนส์ ที่มีกำลังขยาย 1:1 ซึ่งเลนส์ประเภทนี้จะเป็นเลนส์ Prime เช่น 50mm, 105mm หรือ 200mm ขนาดความยาวของเลนส์มีผลต่อ focus distance ค่ามากระยะห่างของเลนส์กับวัตถุ หรือ Focus distance จะเพิ่มขึ้นไปด้วย อย่างเช่น 200mm ระยะโฟกัสจะมีมากกว่า 50mm ใช้ได้ดีกับการถ่ายแมลงที่ไม่ยอมให้เราเข้าใกล้ๆ เลนส์ที่มีระยะโฟกัสที่สั้นอาจมีปัญหาที่เกิดจากการเลนส์ไปบังแสงได้ เลนส์ที่มีกำลังขยาย 1:1 ประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูง แต่เป็นที่นิยมของนักถ่ายภาพ Macro อะไรคือ 1:1 หรือ Life Size ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าขนาดของภาพที่ตกลงบนแผ่นเซ็นเซอร์ในระยะโฟกัสใกล้สุดจะมีขนาดเท่ากับของจริง เหมือนกับเราจับเอาแมลงไปวางไว้บนเซ็นเซอร์อะไรประมาณนั้น และเมื่อเปิดดูบนจอโมนิเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ จะดูใหญ่กว่าความเป็นจริงเนื่องจากจอมอนิเตอร์ มีขนาดใหญ่กว่า ขนาดของเซ็นเซอร์หลายสิบเท่า

เลนส์ Z00m บางตัวอาจจะมีโหมด Macro พ่วงมาด้วย แต่อัตราการขยายจะน้อยกว่า Macro Prime อาจจะขยายได้มากสุดเพียงแค่ 1:2 หรือ half a life size เป็นต้น

Close Up Filter
มีลักษณะเหมือนกับฟิลเตอร์ที่เราใช้ใส่เข้าไปข้างหน้าเลนส์ ทำให้เลนส์ธรรมดาสามารถโฟกัสได้ใกล้ขึ้น ราคาค่อนข้างถูก Close Up Filter มีหน้าที่คล้ายๆกับเป็นแว่นขยายให้กับเลนส์

มีให้เลือกหลายขนาดขึ้นอยู่กับอัตราการขยายที่เราต้องการ เช่น +1, +2, +4 หรือจะนำมาต่อเข้าด้วยกันพร้อมกันทั้ง 3 อันหรือจับคู่ใดคู่หนึ่ง เพื่อเพิ่มกำลังขยายก็ได้

ข้อเสียก็มีบ้างในเรื่องความคมชัดที่อยู่รอบๆบริเวณมุมของภาพ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจาก จุดสนใจของภาพมาโครส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณค่อนข้างไปทางกลางๆของเฟลม ไม่ติดขอบจนเกินไป และส่วนขอบๆภาพเราจะหนักไปในทางละลายฉากอยู่แล้ว

ท่อต่อ หรือ Extension Tube
ใช้ใส่ต่อระหว่างตัวกล้องกับเลนส์ เป็นท่อกลวง ใช้เพิ่มทางยาวของแสงที่จะตกลงบนเซ็นเซอร์ ระยะห่างมาก อัตราการขยายก็เพิ่มมากขึ้น

- Extension Tube
โดยทั่วๆไปจะมีอยู่ประมาณ 3 ขนาด เช่น 12 mm, 20 mm และ 36 mm และสามารถนำมาต่อรวมกันเพื่อให้มีอัตราการขยายได้มากขึ้นไปอีก (ดังรูปด้านบน) ราคาทั้ง 3 อันรวมกันแล้วก็ยังถูกกว่าเลนส์มาโคร 1:1 อยู่มาก

- Teleconverter
Teleconverter ก็เป็นอีก 1 ทางเลือก ใช้ต่อใส่ระหว่างตัวกล้องกับเลนส์แต่จะต่างจาก Extension Tube ตรงที่มีชิ้นส่วนเลนส์เพิ่มขึ้น มีหน้าที่เพิ่มทางยาวของเลนส์ทำให้ดึงภาพที่ไกลเข้ามาได้ใกล้ขึ้น เช่น ถ้าเอา2 x มาต่อกับเลนส์ 50mm ก็จะกลายเป็น 100mm ข้อเสียคือ ช่องรับแสงจะแคบลงตามค่าของท่อต่อ เช่น 2 xช่องรับแสงจะลดลง 2stop และไม่เหมาะกับเลนส์ที่มีช่องรับแสงแคบกว่า F2.8 ขนาดก็มี 1.2x, 1.4x, 1.7x หรือ 2.0x เป็นต้นการกลับเลนส์ หรือ Reverse mountingการกลับเลนส์โดยการเอาด้านหน้าเลนส์มาต่อเข้ากับตัวกล้องด้วย Adapting Ring หรือจะดัดแปลงทำเองจากฝาปิดตัวกล้องก็ได้ (จะกล่าวถึงการทำในโอกาสต่อไป) ให้อัตราการขยายได้มากกว่า 1:1 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเลนส์ทีใช้ ข้อเสียคือไม่สามารถใช้ระบบวัดแสงรวมทั้งการปรับช่องรับแสงของกล้องได้เลย

ขาตั้ง หรือ Tripod



มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการถ่ายภาพมาโคร เนื่องจากการถ่ายภาพแบบนี้มีอัตราการขยายที่สูงมาก การคลื่อนไหวน้อยนิดมีผลมหาศาลต่อความคมชัด ซึ่งคนรักการถ่ายภาพ Macro ควรต้องมี และขาตั้งที่เหมาะกับงานมาโครต้องสามารถปรับราบลงกับพื้นได้ ใช้ในกรณีที่ วัตถุอยู่ติดกับพื้นดิน เช่นเห็ดบางชนิด หรือแมลงที่อยู่ตามพื้นดิน แกนกลางของขาตั้งที่ดีสามารถถอดมาใส่แนวนอนหมุนรอบตัว 360 องศา หรือถอดใส่กลับหัวได้ หัวที่ใช้ก็น่าจะเป็นหัวบอล เพื่อความว่องไวและมีความคร่องตัวกว่าหัวแพน ถ้ามีตังหน่อยก็อาจจะใช้หัวที่เป็นแบบลางที่ทำไว้ใช้ในงานมาโครโดยเฉพาะ แต่ไม่จำเป็นถึงขนาดนั้นก็ได้

สายกดชัตเตอร์ หรือ รีโหมด

การใช้สายกด หรือรีโหมด จะช่วยลดการสั่นสะเทือนเวลากดชัตเตอร์ได้มาก เพราะการถ่ายภาพแบบนี้มีอัตราการขยายที่สูง มีความชัดตื้นมาก การสั่นเพียงเล็กน้อยมีผลกับความคมชัดของภาพ หรือหลุดโฟกัสไปเลย หากกล้องสามารถปรับเพื่อล็อกกระจกได้ควรใช้ให้เกิดประโยชน์ การสั่นสะเทือนของกระจกที่ยกขึ้นและตกลงด้วยความเร็วสูงระหว่างการกดชัตเตอร์ก็มีผลต่อความคมชัดด้วยเช่นกัน

แฟลช


บางครั้งแสงจากธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย การใช้แฟลชมีส่วนช่วยได้มาก แฟลชที่ใช้ควรแยกออกจากตัวกล้องด้วยการใช้สายต่อ หรือควบคุมด้วย Command Mode (ถ้ามี) แล้วยิงแสงมาจากด้านหน้าซ้ายหรือหน้าขวาหรือหน้าบน ทำมุมยกกับกระบอกเลนส์ เพื่อภาพที่ได้จะดูแล้วมีมิติไม่เรียบแบน (ระวังอย่าให้แสงแฟลชสาดเข้าเลนส์ตรงๆ) ระยะห่างก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าช่องรับแสงแต่ไม่ควรจะตั้งใกล้จนเกินไป หากต้องการให้ฉากหลังดำควรสวมท่อบังคับแสงไว้หน้าแฟลช (ทำกรวยบีบแสงเองก็ได้ด้วยการใช้กระดาษสีดำมาม้วนเป็นท่อแล้วสวมเข้ากับแฟลช แปะด้วยแถบกาว) การถ่ายภาพในลักษณะนี้ จะทำให้ ฉากหลังมีความมืดดำเป็นการขับให้ตัววัตถุที่เราถ่ายดูโดดเด่นออกมา

อุปกรณ์เสริม

แผ่นสะท้อนแสง หรือจะใช้กระดาษสีขาวแทนก็ได้ ขนาดก็ไม่ต้องใหญ่มาก เหมาะสำหรับการใช้ร่วมกับไฟแฟลชกระบอกฉีดน้ำ ถ้าอยากให้ภาพดูแล้วเหมือนกับถ่ายตอนเช้าๆ หรือหลังฝนตก ช่วยทำให้รูปดูสดชื่นขึ้นมาก กระดาษสีดำ เพื่อทำให้ฉากหลังเป็นสีดำ ควรเป็นสีดำด้านไม้สำหรับปักค้ำและลวดหรือเชือกมัดกี่งไม้ ใช้ในกรณีที่มีลมพัดแรง

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเราเอาเลนส์มาโคร มาใส่ฟิลเตอร์มาโครด้านหน้าอีก มันจะเพิ่มกำลังขยายให้หรือเปล่าครับ

    ตอบลบ